การรับประทานอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพเพื่อจัดการอาการเวียนศีรษะบ้านหมุน

เป็นที่ทราบกันดีว่าอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพนั้นเป็นโทษต่อร่างกาย ผู้ป่วยจำนวนมากที่มีอาการเวียนศีรษะบ้านหมุนจากโรคน้ำในหูไม่เท่ากันหรือจากไมเกรน พบว่าการปรับเปลี่ยนอาหารช่วยลดการเกิดและช่วยลดความรุนแรงของอาการเวียนศีรษะบ้านหมุนได้1 เนื่องจากอาหารบางประเภทอาจกระตุ้นอาการเวียนศีรษะบ้านหมุนและควรหลีกเลี่ยง ในขณะที่อาหารบางประเภทสามารถลดโอกาสในการเกิดอาการเวียนศีรษะบ้านหมุนได้2

กรุณาปรึกษาแพทย์ของคุณว่าอาหารประเภทใดที่คุณควรบริโภคตามสาเหตุที่ทำให้คุณมีอาการเวียนศีรษะบ้านหมุน ทั้งนี้ แพทย์เป็นบุคคลที่ให้คำแนะนำแก่คุณได้ดีที่สุด โดยแพทย์จะพิจารณาจากข้อมูลประวัติสุขภาพของคุณ

  1. ทำไมอาหารจึงส่งผลต่ออาการเวียนศีรษะบ้านหมุน?

    โดยส่วนใหญ่ อาการเวียนศีรษะบ้านหมุนเกิดจากความผิดปกติภายในหูชั้นใน โดยสารที่อยู่ในเลือดและของเหลวอื่น ๆ ในร่างกายจะส่งผลต่อของเหลวที่อยู่ในหู2 มีอาหารบางประเภทที่อาจส่งผลต่อความเข้มข้นของสารภายในหูและกระตุ้นอาการต่าง ๆ ได้ เช่น อาการเสียงรบกวนในหู ไมเกรน และการสูญเสียการทรงตัว1,2 การงดหรือลดการรับประทานอาหารเหล่านั้นจะสามารถลดโอกาสที่จะเกิดอาการเวียนศีรษะบ้านหมุนได้

  2. อาหารประเภทใดที่เราควรหลีกเลี่ยง?

    2.1 โซเดียม
    โซเดียมเป็นแร่ธาตุชนิดหนึ่งที่ร่างกายมีการควบคุมปริมาณโดยไต โซเดียมมีหน้าที่ช่วยควบคุมความสมดุลของของเหลวในร่างกาย3 อย่างไรก็ตาม เมื่อร่างกายมีปริมาณโซเดียมมากเกินไปจะทำให้แรงดันของของเหลวในหูชั้นในผิดปกติและอาจทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะบ้านหมุนได้2 อาหารรสเค็มเป็นแหล่งที่มาหลักของโซเดียมที่อยู่ในร่างกายของเรา7 ดังนั้น หากมีอาการเวียนศีรษะบ้านหมุน ผู้ป่วยควรลดการบริโภคอาหารรสเค็มเพื่อลดระดับของโซเดียมในร่างกาย3,7 ตัวอย่างอาหารที่มีโซเดียมสูงมีดังนี้3
    • ขนมปังขาว
    • พิซซ่า
    • ขนมขบเคี้ยว (เช่น มันฝรั่งทอด ป๊อปคอร์น และเพรทเซล)
    • ซุปกระป๋อง
    • แซนด์วิช
    • เมนูไข่

    2.2 เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
    เครื่องดื่มแอลกอฮอล์อาจทำให้ร่างกายเกิดภาวะขาดน้ำ นอกจากนี้ สารที่เกิดจากการเผาผลาญแอลกอฮอล์ก่อให้เกิดพิษต่อสมองและหูชั้นใน เครื่องดื่มแอลกอฮอล์สามารถกระตุ้นอาการต่าง ๆ ได้ เช่น ไมเกรน คลื่นไส้ และอาการเวียนศีรษะบ้านหมุน4 อีกทั้งมีการยืนยันว่าแอลกอฮอล์ส่งผลกระทบต่อหูชั้นในเนื่องจากมีผลกับองค์ประกอบและปริมาณของของเหลว4 หากมีอาการเวียนศีรษะบ้านหมุน ผู้ป่วยควรหยุดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เนื่องจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อาจทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะได้4

    2.3 คาเฟอีน
    คาเฟอีนทำให้ร่างกายผลิตปัสสาวะในปริมาณมากเกินไป และอาจทำให้อาการบางอย่างแย่ลง เช่น อาการเสียงรบกวนในหู เนื่องจากคาเฟอีนมีคุณสมบัติกระตุ้นการปัสสาวะ1 หากต้องการลดการบริโภคคาเฟอีน คุณควรหลีกเลี่ยงอาหารและเครื่องดื่มต่อไปนี้
    • กาแฟ
    • ชา
    • ช็อคโกแลต
    • น้ำอัดลม
    เครื่องดื่มที่แนะนำให้ดื่มแทนกาแฟหรือชาได้แก่ น้ำเปล่า นม หรือน้ำผลไม้ที่มีน้ำตาลต่ำ ทั้งนี้ คุณควรดื่มน้ำอย่างน้อยสองลิตรต่อวัน

    2.4 น้ำตาล
    อาหารที่มีระดับน้ำตาลสูงอาจทำให้ปริมาณของของเหลวในร่างกายผิดปกติ ซึ่งอาจเป็นการกระตุ้นอาการเวียนศีรษะบ้านหมุน1 ผู้ป่วยควรลดอาหารและเครื่องดื่มที่ใส่น้ำตาลในปริมาณสูง เช่น5
    • เครื่องดื่มที่ใส่น้ำตาลให้มีรสหวาน (เช่น น้ำอัดลมและเครื่องดื่มชูกำลัง)
    • น้ำเชื่อม น้ำอ้อย
    • ขนมอบ (เช่น เค้ก มัฟฟิน พาย และคุกกี้)
    • ไอศกรีม
    • ลูกอม

    2.5 ปัจจัยกระตุ้นไมเกรน
    เป็นที่ทราบกันดีว่าอาหารและเครื่องดื่มบางประเภทเป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดไมเกรน การหลีกเลี่ยงอาหารเหล่านั้นสามารถช่วยลดอาการเวียนศีรษะจากไมเกรนและป้องกันไม่ให้เกิดอาการเวียนศีรษะบ้านหมุนได้1 อาหารที่มีระดับสารไทรามีนจากกรดอะมิโนสูงสามารถกระตุ้นไมเกรนได้ เนื่องจากไทรามีนอาจทำให้มีการผลิตสารที่เรียกว่านอร์อิพิเนฟรินมากขึ้น ซึ่งอาจก่อให้เกิดอาการปวดศีรษะ6 อาหารที่เป็นที่ทราบว่ามีไทรามีนสูง ซึ่งผู้ป่วยที่มีอาการไมเกรนเรื้อรังควรหลีกเลี่ยงมีดังนี้1
    • ตับไก่
    • เนื้อรมควัน
    • ครีมเปรี้ยว
    • โยเกิร์ต
    • ปลาเฮร์ริ่งดอง
    • ช็อคโกแลต
    • กล้วย
    • ผลไม้ตระกูลส้ม
    • ชีสที่ผ่านการบ่ม (เช่น เชดดาร์ชีส สติลเทินชีส บรี และกาม็องแบร์)

กรุณาปรึกษาแพทย์และ/หรือนักโภชนาการของคุณเพื่อให้ทราบว่าอาหารประเภทใดเหมาะสมที่สุดสำหรับคุณ

References

  1. Vestibular Disorder Association. Dietary Considerations. https://vestibular.org/article/coping-support/dietary-considerations/.  Published 2020. Accessed October 30, 2020.
  2. Meniere’s disease, University of Iowa, hospitals & clinics (page 4) https://uihc.org/health-topics/menieres-disease Accessed April 27, 2021.
  3. U.S. Food and Drug Administration. Sodium in Your Diet. https://www.fda.gov/food/nutrition-education-resources-materials/sodium-your-diet . Published 2020. Accessed October 20, 2020.
  4. Alcoholism: effects on the cochleo-vestibular apparatus.  Bellé M, Sartori Sdo A, Rossi AG. Braz J Otorhinolaryngol. 2007 Jan-Feb;73(1):110-6. doi: 10.1016/s1808-8694(15)31132-0. PMID: 17505609. http://www.rborl.org.br Accessed April 27, 2021
  5. American Heart Association. Added Sugar Is Not So Sweet – Infographic. www.heart.org. https://www.heart.org/en/healthy-living/healthy-eating/eat-smart/sugar/added-sugar-is-not-so-sweet-infographic. Published 2020. Accessed October 20, 2020.
  6. Balance H, Relationships S, Care O et al. Tyramine-Rich Foods as A Migraine Trigger & Low Tyramine Diet. WebMD. https://www.webmd.com/migraines-headaches/tyramine-and-migraines. Published 2020. Accessed October 30, 2020.
  7. Eating well with Meniere’s Disease. https://muschealth.org/medical-services/ent/otology/vertigo/eating-well. Published 2020. Accessed May 10, 2021
THL2307604 EXP:(6-MAR-2026)