ทำอย่างไร?…เมื่อเป็นโรคลำไส้แปรปรวน

โรคลำไส้แปรปรวน หรือเรียกสั้น ๆ ในทางการแพทย์ว่าโรคไอบีเอส (IBS: irritable bowel syndrome) เป็นโรคที่มีการทำงานผิดปกติในทางเดินอาหารโดยเฉพาะที่ลำไส้ แต่ไม่พบความผิดปกติทางโครงสร้างหรือพยาธิสภาพในระบบทางเดินอาหาร เป็นโรคที่มีลักษณะเรื้อรัง เป็น ๆ หาย ๆ ความเป็นจริงแล้วโรคลำไส้แปรปรวนพบได้บ่อย ในประเทศสหรัฐอเมริกาและยุโรปพบได้ถึง 10-20 % ส่วนในประชากรไทยพบประมาณ 7 % แต่เนื่องจากอาการของโรคมีได้หลากหลายและไม่เฉพาะเจาะจง จึงพบว่ามีเพียง 15 % ของผู้ป่วยทั้งหมดที่มาพบแพทย์ ปัจจุบันผู้ป่วยโรคลำไส้แปรปรวนจึงยังไม่ได้รับการรักษาอย่างเพียงพอ ก่อให้เกิดความรำคาญใจและกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยอย่างมาก

มีสาเหตุมาจากอะไร 

อาการเครียดเป็นสาเหตุโรคลำไส้แปรปรวน

ปัจจุบันยังไม่พบสาเหตุที่แน่นอน แต่สาเหตุหรือปัจจัยที่อาจเกี่ยวข้องกับโรคลำไส้แปรปรวน ได้แก่

1. การเคลื่อนไหวหรือการบีบตัวของลำไส้ผิดปกติ ทำให้เกิดอาการปวดท้อง ท้องผูก หรือท้องเสียได้

2. ระบบประสาทที่ผนังลำไส้ไวต่อสิ่งเร้ามากผิดปกติ หรือพูดง่าย ๆ ว่าลำไส้ไวต่อตัวกระตุ้นที่มากกว่าปกติ เช่น หลังรับประทานอาหาร เมื่ออาหารลงมาสู่ลำไส้ ลำไส้มีการตอบสนองที่มากกว่าปกติ จึงมีการบีบตัวและเคลื่อนตัวมากขึ้น ทำให้ปวดท้องและท้องเสียตามมาได้

3. ความเครียด หรือภาวะทางจิตเวช ก็พบว่าเกี่ยวข้องกับโรคลำไส้แปรปรวนได้ เนื่องจากสมองและทางเดินอาหารมีการทำงานที่เชื่อมโยงกัน จะสังเกตเห็นว่าเวลาที่เราเครียดมักพบอาการปวดท้องหรือความผิดปกติในการขับถ่ายได้ง่าย

จะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นโรคลำไส้แปรปรวน / มีลักษณะอาการอย่างไร

อาการโรคลำไส้แปรปรวน

อาการของโรคลำไส้แปรปรวนมักไม่เฉพาะเจาะจง แพทย์จะวินิจฉัยว่าเป็นโรคลำไส้แปรปรวนก็ต่อเมื่อวินิจฉัยแยกโรคหรือสาเหตุอื่น ๆ ออกไปได้ อาการที่พบได้บ่อยและการสังเกตว่าคล้ายโรคลำไส้แปรปรวนหรือไม่ มีดังนี้

1. ปวดเกร็งช่องท้อง เพราะลำไส้มีการบีบตัวที่ผิดปกติ ผู้ป่วยบางรายอาจให้ข้อมูลว่าปวดในลักษณะอื่น ๆ ก็ได้ เช่น ตื้อ ๆ หนัก ๆ อึดอัด

2. ความผิดปกติของการขับถ่าย ซึ่งผู้ป่วยโรคลำไส้แปรปรวนอาจมีลักษณะเด่นเป็นท้องผูก หรือท้องเสียก็ได้ หรือบางรายอาจเด่นท้องผูกสลับท้องเสียก็ได้เช่นกัน
– ในรายที่ท้องผูกเด่น จะมีอาการถ่ายอุจจาระลำบากขึ้น ต้องเบ่งมาก ลักษณะอุจจาระเปลี่ยนเป็นก้อนแข็ง สิ่งที่แตกต่างจากอาการท้องผูกทั่ว ๆ ไป คือ โรคลำไส้แปรปรวนที่มีอาการท้องผูกเด่น จะมีอาการปวดเกร็งช่องท้องร่วมด้วย
– ในรายที่ท้องเสีย จะมีอุจจาระเหลว รู้สึกอยากถ่ายอุจจาระทันทีจนกลั้นไม่อยู่

3. อาการเหล่านี้จะเป็น ๆ หาย ๆ มากกว่า 3 เดือน

การรักษาและการดูแลตนเอง

ออกกำลังกาย รับประทานผักผลไม้

เนื่องจากยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของโรค การรักษาจึงเน้นให้ยาบรรเทาอาการ เช่น ให้ยาระบายในผู้ป่วยที่มีอาการท้องผูก ให้ยาหยุดถ่ายในผู้ป่วยที่ท้องเสีย ร่วมกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ บริหารความเครียด รับประทานอาหารอย่างเหมาะสม ไม่อิ่มจนเกินไป หลีกเลี่ยงอาหารไขมันสูง เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด ชา และกาแฟ เป็นต้น


เอกสารอ้างอิง
– กนกอร บุญพิทักษ์ (บรรณาธิการ). ดูแลกระเพาะอาหารและลำไส้: กรุงเทพฯ. Feel good Publishing, 2556.

THL2147592-4 EXP:(30-APR-2026)