สัญญาณเตือน…ตับอ่อนอักเสบ
อวัยวะที่หลายคนมองข้าม แต่จริง ๆ แล้วมีความสำคัญต่อร่างกายมาก คือ ตับอ่อน เมื่อเกิดความผิดปกติขึ้นมา เช่น ตับอ่อนอักเสบ ซึ่งถือเป็นความผิดปกติของทางเดินอาหารที่รุนแรงและควรพบแพทย์โดยด่วน ก่อนอื่นมารู้จักหน้าที่ของตับอ่อนกันก่อน ตับอ่อนทำหน้าที่หลั่งเอนไซม์ที่สำคัญหลายชนิดเพื่อช่วยในการย่อยอาหาร และยังเป็นอวัยวะที่สร้างอินซูลินซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ช่วยรักษาระดับน้ำตาลในกระแสเลือดให้เหมาะสม ไม่ให้มีระดับน้ำตาลในเลือดที่มากเกินไป ดังนั้น เมื่อตับอ่อนทำงานผิดปกติขึ้นมา หน้าที่เหล่านี้จะบกพร่องและเกิดผลเสียต่อร่างกาย ความผิดปกติที่พบบ่อยที่สุดของตับอ่อน คือ ภาวะตับอ่อนอักเสบ
ตับอ่อนอักเสบ คืออะไร
ตับอ่อนอักเสบ หมายถึง การอักเสบของเนื้อตับอ่อน พบได้บ่อยในผู้ที่ดื่มสุราเรื้อรัง หรือคนที่เป็นนิ่วในถุงน้ำดี พบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง แบ่งเป็น 2 ชนิด คือ ตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน และตับอ่อนอักเสบเรื้อรัง
สัญญาณอันตรายของตับอ่อนอักเสบ
อาการหรือสัญญาณอันตรายที่อาจต้องนึกถึงตับอ่อนอักเสบ ได้แก่
ตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน จะมีอาการ
1. ปวดท้องอย่างรุนแรง และเกิดขึ้นอย่างปัจจุบันทันด่วน อาจปวดร้าวไปด้านข้างหรือด้านหลัง ปวดอยู่นานหลายวัน
2. ท้องอืด อาหารไม่ย่อย ลำไส้ไม่ค่อยเคลื่อนไหวเพราะขาดเอนไซม์ที่ช่วยย่อยอาหารจากตับอ่อน
3. มีไข้ คลื่นไส้อาเจียน กระสับกระส่าย
ตับอ่อนอักเสบเรื้อรัง จะมีอาการคล้าย ๆ ตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน แต่มักจะมีอาการไม่ค่อยรุนแรง ปวดท้องแบบเป็น ๆ หาย ๆ หรือปวดตลอดเวลา ท้องอืด อาหารไม่ย่อย อาจมีท้องเสียเรื้อรัง อุจจาระเป็นไขมันเนื่องจากย่อยไขมันไม่ได้ ในระยะยาวร่างกายจะขาดสารอาหาร และทำให้ซูบผอม น้ำหนักตัวลดลง
โรคตับอ่อนอักเสบเกิดจากอะไร
สาเหตุหรือปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญของการเกิดโรคตับอ่อนอักเสบ คือ
1. นิ่วในถุงน้ำดี ถือเป็นสาเหตุที่สำคัญของโรคตับอ่อนอักเสบ เพราะนิ่วในถุงน้ำดีจะไปอุดรูเปิดของท่อตับอ่อนได้
2. ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ เช่น เหล้า เบียร์ เพราะแอลกอฮอล์เป็นตัวที่ทำลายเซลล์ตับอ่อนได้
3. สาเหตุอื่น ๆ ที่เป็นไปได้ เช่น ไขมันชนิดไตรกลีเซอร์ไรด์สูงมาก ๆ สูบบุหรี่ ยาบางชนิด (เช่น ยารักษาวัณโรค ยาปฏิชีวนะบางชนิด ยากันชักวาลโปรเอต)
การดูแลรักษาโรคตับอ่อนอักเสบ
หากมีอาการเตือนตามที่กล่าวไป ควรรีบพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยโดยด่วน ส่วนการดูแลรักษาตัวเองก็เป็นส่วนสำคัญ ได้แก่ งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หากตรวจพบว่าเป็นนิ่วในถุงน้ำดีควรเข้ารับการผ่าตัดโดยด่วน
เอกสารอ้างอิง
– กนกอร บุญพิทักษ์ (บรรณาธิการ). ดูแลกระเพาะอาหารและลำไส้: กรุงเทพฯ. Feel good Publishing, 2556.