ข้อควรรู้เกี่ยวกับไขมัน
ภาวะไขมันในเลือดผิดปกติ
ทำไมคอเลสเตอรอลจึงเป็นภัยร้ายต่อสุขภาพ? และเราควรปฏิบัติตัวอย่างไร?

ไขมันเป็นสารประเภทหนึ่งที่ไม่ละลายน้ำ ไขมันที่อยู่ในร่างกายคนเรามีอยู่หลายชนิดด้วยกัน แต่ละชนิดต่างก็ทำหน้าที่ต่างกันไป
ไขมันในเลือดที่เรารู้จักกันดี ได้แก่ คอเลสเตอรอล (cholesterol) และ ไตรกลีเซอไรด์ (triglyceride)
คอเลสเตอรอลเป็นส่วนประกอบของผนังเซลล์ และยังเป็นสารตั้งต้นในการสร้างฮอร์โมนบางชนิดในร่างกาย สำหรับไตรกลีเซอไรด์ทำหน้าที่เป็นแหล่งเก็บสะสมพลังงานของร่างกาย และมีการสลายมาใช้ในเวลาที่ร่างกายขาดพลังงาน
คอเลสเตอรอลในเลือดนั้นยังสามารถแบ่งย่อยเป็นชนิด ต่าง ๆ ได้อีก

เราคงเคยได้ยินว่าคอเลสเตอรอลในเลือด มีทั้งคอเลสเตอรอลที่อยู่ในรูปของเอชดีแอล (HDL ซึ่งย่อมาจาก high-density lipoprotein) กับ คอเลสเตอรอลที่อยู่ในรูปของแอลดีแอล (LDL ซึ่งย่อมาจาก low-density lipoprotein)
การที่มีระดับแอลดีแอลในเลือดสูงเป็นเวลานาน ๆ พบว่ามีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดแดงแข็งได้ ส่วนการที่มีระดับเอชดีแอลในเลือดต่ำกว่าปกติ พบว่าเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดแดงแข็งได้เช่นกัน
สำหรับโรคหลอดเลือดแดงแข็งนั้น อาจแสดงอาการออกมาในรูปของโรคหลอดเลือดหัวใจ เช่น กล้ามเนื้อหัวใจตายในคนที่เจ็บแน่นหน้าอกเฉียบพลัน
โรคหลอดเลือดสมอง เช่น เส้นเลือดในสมองตีบ ทำให้เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต หรือ โรคหลอดเลือดแดงส่วนปลาย ทำให้เป็นแผลไม่หาย ต้องตัดเท้าหรือขา โรคเหล่านี้เป็นสาเหตุที่สำคัญของการเจ็บป่วยและการตายของคนไทยในปัจจุบัน
ภาวะไตรกลีเซอไรด์สูง

อาจส่งผลต่อการเกิดโรคหลอดเลือดแดงแข็งได้ แต่หลักฐานที่มีอยู่ยังไม่ชัดเจนเท่ากับคอเลสเตอรอล อย่างไรก็ตาม การที่มีไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูงมาก ๆ จะทำให้มีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดตับอ่อนอักเสบเฉียบพลันได้ โดยคนไข้จะมีอาการเจ็บจุกแน่นลิ้นปี่ ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน จนอาจรุนแรงถึงเข้าพักรักษาตัวในโรงพยาบาล
ภาวะไขมันในเลือดผิดปกติเป็นภาวะที่ร่างกายมีระดับไขมันในเลือดสูงหรือต่ำกว่าปกติ ไม่ว่าจะเป็นระดับแอลดีแอลสูง ระดับเอชดีแอลต่ำ หรือระดับไตรกลีเซอไรด์สูงนั่นเอง
การตรวจว่าระดับไขมันในเลือดผิดปกติหรือไม่ สามารถเจาะเลือดตรวจหลังอดอาหารข้ามคืนอย่างน้อย 12 ชั่วโมง (สามารถดื่มน้ำเปล่าได้) เพื่อให้แพทย์วินิจฉัยได้ว่าท่านมีไขมันในเลือดผิดปกติหรือไม่ และทราบว่าผิดปกติแบบใด
ภาวะไขมันในเลือดผิดปกติ เกิดได้จากหลายสาเหตุ

ส่วนหนึ่งอาจเกิดจากกรรมพันธุ์ เช่น มีคนในครอบครัวมีระดับไขมันในเลือดผิดปกติ อีกส่วนหนึ่งอาจเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ เช่น จากอาหาร จากยา หรือจากโรคอื่น ๆ
ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะไขมันในเลือดผิดปกติ คือผู้ที่มีประวัติครอบครัวอยู่แล้ว รวมทั้งผู้ที่มีสาเหตุภายนอกที่ทำให้ระดับไขมันในเลือดผิดปกติ เช่น โรคหรือภาวะบางอย่าง ยา หรือแม้กระทั่งอาหาร
อาหารบางชนิดทำให้คอเลสเตอรอลสูง เช่น เครื่องใน ไข่แดง อาหารที่มีกรดไขมันอิ่มตัวสูง อาหารบางชนิดทำให้ไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง เช่น อาหารจำพวกแป้ง ของมัน ของทอด
ยาบางอย่างทำให้ไขมันในเลือดสูงได้ เช่น ยาสเตียรอยด์ ทำให้ไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง นอกจากนี้ โรคบางอย่างยังทำให้ไขมันในเลือดสูงได้ด้วย เช่น โรคเบาหวานทำให้ไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง โรคต่อมไทรอยด์ทำงานต่ำ ทำให้คอเลสเตอรอลสูงในบางคน สาเหตุของภาวะไขมันในเลือดสูงอาจเกิดจากสาเหตุทางกรรมพันธุ์และสาเหตุอื่น ๆ
การลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะไขมันในเลือดผิดปกติ
การลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะไขมันในเลือดผิดปกตินั้น สามารถทำได้หลายวิธี แม้ว่าปัจจัยทางพันธุกรรม ยังไม่สามารถปรับเปลี่ยนได้ แต่ปัจจัยภายนอกอื่น ๆ สามารถปรับเปลี่ยนได้ เช่น การรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ลดการบริโภคอาหารที่อาจทำให้ระดับไขมันในเลือดสูงขึ้น ควบคุมการดื่มแอลกอฮอล์ ควบคุมน้ำหนักตัว และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
ในผู้ที่ตรวจพบว่าระดับไขมันในเลือดผิดปกติอยู่แล้ว สามารถทำการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อให้ระดับไขมันดีขึ้นได้ โดยทั่วไป การลดระดับแอลดีแอล คอเลสเตอรอล มีจุดมุ่งหมายระยะยาว เพื่อลดโอกาสการเกิดโรคหลอดเลือดแดงแข็ง การที่มีแอลดีแอล คอเลสเตอรอลสูงจัดเป็นปัจจัยเสี่ยงหนึ่งต่อการเกิดโรคดังกล่าว
คนแต่ละคนมีโอกาสเกิดโรคหลอดเลือดแดงแข็งได้ไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับปัจจัยเสี่ยงอื่น เช่น การสูบบุหรี่ ความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน ประวัติครอบครัว และอื่น ๆ
ทั้งนี้ ผู้ที่มีอาการของโรคหลอดเลือดแดงแข็งอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง หรือโรคหลอดเลือดแดงส่วนปลาย รวมทั้งโรคเบาหวาน มีโอกาสเสี่ยงมากกว่าผู้ที่ไม่มีโรคดังกล่าว
ดังนั้น จึงสมควรที่จะทำให้ระดับแอลดีแอล คอเลสเตอรอลที่สูงอยู่ กลับสู่ค่าปกติ สำหรับคนที่มีระดับไตรกลีเซอไรด์สูง พบว่าเพิ่มความเสี่ยงโรคหลอดเลือดแดงแข็งเช่นกัน และคนที่มีระดับไตรกลีเซอไรด์สูงมาก มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน
การทำให้ระดับไขมันที่ผิดปกติ กลับมาเป็นปกติ
อาจทำได้โดยการไม่ใช้ยา เช่น การควบคุมอาหาร การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และการควบคุมหรือลดน้ำหนัก ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นหัวใจที่สำคัญของการรักษาภาวะไขมันในเลือดผิดปกติ
อาหารต่างชนิดสามารถเพิ่มหรือลดระดับของแอลดีแอล คอเลสเตอรอลได้

อาหารที่อุดมไปด้วยคอเลสเตอรอล กรดไขมันอิ่มตัว และกรดไขมันประเภทไขมันทรานส์ สามารถเพิ่มระดับคอเลสเตอรอลได้ อาหารดังกล่าวพบได้ในอาหารจานด่วน (fast food) อาหารทอดเกรียม (deep fried) อาหารกล่องสำเร็จรูปแช่แข็ง ขนมหวานเช่น เค้กหรือคุ้กกี้ อาหารติดมัน ไข่แดง อาหารทะเล และเครื่องในสัตว์ เป็นต้น ดังนั้นจึงควรจำกัดหรือหลีกเลี่ยงอาหารดังกล่าว
ทั้งนี้ อาหารที่มาจากพืชจะไม่มีคอเลสเตอรอล แต่อาจมีกรดไขมันอิ่มตัวบางชนิดซึ่งสามารถเพิ่มระดับของคอเลสเตอรอลได้ เช่น น้ำมันปาล์ม หรือ น้ำมันมะพร้าว
การควบคุมอาหารที่ทำให้ระดับแอลดีแอล คอเลสเตอรอลลดลง ทำได้ด้วยการจำกัดอาหารที่มีคอเลสเตอรอลสูง อาหารที่มีกรดไขมันอิ่มตัวและไขมันทรานส์สูง รวมทั้งรับประทานอาหารที่มีกากใยเพิ่มขึ้นด้วย
อาหารหลายประเภทสามารถเพิ่มระดับไตรกลีเซอไรด์

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อาหารติดมัน อาหารทอด อาหารที่มีน้ำตาลหรือคาร์โบไฮเดรตสูง รวมทั้งเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์และน้ำอัดลม การลดอาหารหรือเครื่องดื่มดังกล่าวนอกจากจะช่วยลดระดับไตรกลีเซอไรด์แล้ว ยังช่วยลดปริมาณพลังงานหรือแคลอรีที่บริโภคต่อวัน ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการควบคุมน้ำหนักตัวด้วย
การออกกำลังกายสามารถช่วยให้ระดับไขมันในเลือดดีขึ้นได้ มักได้ผลในการลดระดับไตรกลีเซอไรด์ และเพิ่มระดับเอชดีแอล คอเลสเตอรอลได้ด้วย
ในกรณีที่วิธีดังกล่าวไม่ได้ผลเพียงพอ
แพทย์อาจจะแนะนำให้รับประทานยาลดไขมันเพิ่มเติม เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดแดงแข็ง และ/หรือภาวะตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน
ทั้งนี้ การที่ยาจะมีประสิทธิภาพที่ดีจะต้องมีการควบคุมอาหารและควบคุมน้ำหนักร่วมด้วย
เนื่องจากการที่มีแอลดีแอล คอเลสเตอรอลสูงเป็นเพียงปัจจัยเสี่ยงอันหนึ่งของการเกิดโรคหลอดเลือดแดงแข็ง ดังนั้นการควบคุมปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ จึงมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน และควรกระทำควบคู่กันไปด้วย เช่น การงดสูบบุหรี่ การควบคุมความดันโลหิตสูง การควบคุมระดับน้ำตาลในผู้ป่วยโรคเบาหวาน การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เป็นต้น
เรียบเรียงโดย
ศ. นพ. วีรพันธุ์ โขวิฑูรกิจ